Follow us on

FASHION

FIERCE STORY

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 "The Queen of Textile ราชินีแห่งสิ่งทอ"

Written by Babyjane
Created: Oct 22, 2017 15:19 | Published date: Nov 03, 2017 08:13

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพวกเราชาวไทยมากมายเหลือเกินค่ะ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมผ้าไทย ซึ่งพระองค์ทรงงานหนักเพื่อสร้างอาชีพทอผ้าให้ชาวบ้านมีรายได้ และส่งเสริมให้ผ้าไทยดำรงคงอยู่เป็นศิลปะของชาติมาจนถึงปัจจุบัน

Fashion สมเด็จพระนางเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ราชินีสิ่งทอ


Photo Credits:

แม่หลวงของพวกเราชาวไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยมากมายเหลือเกินค่ะ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพด้านการทอผ้า ซึ่งกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็น “ราชินีแห่งสิ่งทอ” หรือ The Queen of Textile ผู้ฟื้นการทอผ้าไทยขึ้นมาอีกครั้ง วันนี้เฟียร์ซจึงขอรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อการทอผ้าไทยมาตลอดระยะเวลาหลายปีค่ะ

 

 

พระผู้ทรงเคียงคู่การทรงงานในหลวงรัชกาลที่ 9

ภาพที่คนไทยที่เกิดในรัชกาลที่ 9 เห็นจนชินตาคือภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯ เคียงคู่ไปกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท ขณะที่พ่อหลวงทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาด้านการเกษตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ก็ทรงพัฒนาอาชีพของชาวบ้านโดยเฉพาะอาชีพทอผ้า

 

 

จุดกำเนิดความสนพระทัยในผ้าไทย

ในปีพ.ศ. 2513 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงตามเสด็จไปเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ทรงทอดพระเนตรเห็นหญิงชาวบ้านที่มารอรับเสด็จนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสชมชาวบ้านว่า “ผ้าสวย” ชาวบ้านก็กราบบังคมทูลซื่อๆว่า “ผ้าของคนจนใส่นี่หรือสวย” พระองค์ทรงรับสั่งกลับไปว่า “ชอบจริงๆ ถ้าจะให้ทำให้จะได้ไหม” หญิงชาวบ้านจึงบังคมทูลว่า “จะใส่หรือเปล่าจ๊ะ ถ้าใส่จริง ฉันก็จะทำให้” ครั้งนั้นพระองค์ได้รับสั่งกลับไปว่า “ใส่สิจ๊ะ ถ้าทำให้ฉันจะใส่” สร้างความดีใจให้หญิงชาวบ้านที่มารับเสด็จเป็นอย่างมาก

 

 

เพิ่มคุณค่าให้ผ้าไหมมัดหมี่

 จุดเริ่มต้นของโครงการผ้าไหมมัดหมี่ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรับสั่งให้ผู้ติดตามไปขอซื้อผ้าจากชาวบ้าน โดยการขอซื้อผ้าจากชาวบ้านครั้งแรกๆ นั้นเต็มไปด้วยความลำบาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ทอเพียงแค่เอาไว้ใช้นุ่งห่มเท่านั้น ขายไม่เป็น เพราะไม่เคยคิดว่าผ้าไหมมัดหมี่นั้นจะมีราคา เลยไม่เคยทอไว้ขาย ผู้ติดตามพระองค์ท่านต้องไปอ้อนวอนชาวบ้านเพื่อขอซื้อผ้า เมื่อเขาถามว่าจะซื้อไปทำไม ผู้ติดตามก็บอกว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ จะทรงช่วยเหลือ รับสั่งให้มาซื้อผ้ากลับไปถวาย

 

 

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงฟื้นการทอผ้าไทยขึ้นมาอีกครั้ง ส่งเสริมเป็นอาชีพ และทรงรับซื้อผ้าทุกชิ้นที่สั่งทอจากชาวบ้านเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ อีกทั้งยังทรงนำผ้าทอที่ทอโดยชาวบ้านมาตัดเป็นชุดฉลองพระองค์ และทรงใส่ออกพระราชดำเนินทั่วทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบให้คนไทยหันมาสนใจผ้าไทย การซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็เริ่มขยับขยายไปยังอีกหมู่บ้าน จนกระทั่งขยับขยายไปยังจังหวัดต่างๆจนทั่วภาคอีสาน

 

 

ห้องทรงงานที่เต็มไปด้วยผ้าไหม

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เล่าว่าห้องทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ นั้นเต็มไปด้วยผ้าไหมไทยหลากสีหลากลวดลาย ที่เดินทางมาจากภูมิภาคต่างๆ กันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ผ้าไหมไทยเดินทางมาสู่ห้องทรงงานได้ก็เพราะน้ำพระทัยห่วงใยและแน่วแน่ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ทรงต้องการจะช่วยเหลือราษฎรที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง และยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างมั่นคง

 

 

ทรงงานไม่หยุดพักแม้จะมีพระอาการแพ้ฝุ่น

สิ่งที่คนไทยหลายคนไม่ทราบคือเมื่อเริ่มแรกที่ทรงตั้งโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงตรวจตราผ้าไหมและงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯด้วยพระองค์เองทุกชิ้นผืนมาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้จะมีพระอาการแพ้ฝุ่นที่สะสมอยู่ในผืนผ้า แต่ก็ทรงอดทนที่จะทรงงานเพื่อราษฎรของพระองค์ตลอดมา

 

 

แม้ผ้าขี้ริ้วก็ควรค่าน่าเรียนรู้

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงสอนให้สังเกต ให้เรียนรู้จากชาวบ้าน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านอนุรักษ์การทอผ้าลวดลายโบราณ รับสั่งว่า “ผ้าขี้ริ้วที่ชาวบ้านถูเรือนก็ต้องดูด้วย เพราะลายผ้าจะอยู่ตรงนั้น” โดยทั่วไปชาวบ้านมักจะนำผ้าเก่ามาทำผ้าขี้ริ้ว ซึ่งก็พบว่าลายสวยจริงๆ พอถามดูเลยทราบว่าเป็นผ้าที่ยายทอไว้ แม่ทอไว้แต่โบราณ 

 

 

สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ

จากพระราชดำริที่ต้องการอนุรักษ์การทอผ้าลวดลายโบราณ รวมถึงอนุรักษ์พันธุ์ไหมไทยแท้ ๆ ควบคู่กันไปด้วย “สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2547 เพื่อรักษาพันธุ์ไหมและพัฒนาพันธุ์หม่อนให้มีคุณภาพดีขึ้น และกระจายไหมพันธุ์ไทยแท้ให้ชาวบ้าน

 

 

ชุดไทยพระราชนิยม

ในช่วงปี พ.ศ.2503 ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีชุดแต่งกายประจำชาติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงมีพระราชดำริว่า จำเป็นต้องมีฉลองพระองค์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริง จึงทรงเชิญผู้มีความรู้หลายท่านมาถวายคำแนะนำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ต้นแบบไว้ และยังพระราชทานพระราชานุญาตให้สตรีไทยนำแบบฉลองพระองค์ชุดไทยไปตัดเย็บสวมใส่ได้ เรียกกันว่า ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ ซึ่งมีทั้งหมด 8 แบบดังนี้ http://fiercebook.com/articles/4725
 

 

ผ้าไทยกับห้องเสื้อแฟชั่นระดับโลก

สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงฉลองพระองค์แบบสากลตามโอกาส จึงมีพระราชดำริให้นักออกแบบต่างชาติมาดูแลฉลองพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายปิแอร์ บัลแมง เป็นช่างออกแบบเสื้อตัดเย็บฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมไทย หลังจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบต่างชาติจากห้องเสื้อที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายแห่งร่วมออกแบบ เช่น คริสเตียน ดิออร์ วาเลนติโน และจิวองชี

 

 

สุภาพสตรีที่แต่งกายงดงามที่สุดในโลก

สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงฉลองพระองค์จากผ้าไหมไทยในการเสด็จเยือนต่างประเทศ ทรงเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้โลกประจักษ์ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่พบเห็นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทรงเป็น 1 ใน 10 ของสุภาพสตรีที่แต่งกายงดงามที่สุดในโลกในปีพ.ศ.2503 และ 2504 และทรงเป็นสุภาพสตรีผู้แต่งกายดีที่สุดในโลกในพ.ศ.2506 และ 2507 ต่อมาในพ.ศ.2508 มีการจารึกพระนามาภิไธยในหอแห่งเกียรติคุณ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ทรงเป็น 1 ใน 12 สุภาพสตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก

 

 

สัญลักษณ์ นกยูงไทย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังทรงพระราชทานสัญลักษณ์ “นกยูงไทย" ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยอย่างมีมาตรฐาน โดยจำแนกแบ่งเป็น 4 ชนิดได้แก่ ตรานกยูงสีทอง สำหรับ Royal Thai Silk, ตรานกยูงสีเงิน สำหรับ Classic Thai Silk, ตรานกยูงสีน้ำเงิน สำหรับ Thai Silk และตรานกยูงสีเขียว สำหรับ Thai Silk Blend ซึ่งจะแบ่งตามเกรดคุณภาพและประเภทของผ้า และได้มีการส่งออกผ้าไหมไทยไปยังประเทศต่าง ๆ มูลค่านับพันล้านบาท นำรายได้เข้าสู่ประเทศ 
 

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่มีต่อผ้าไทยค่ะ สำหรับใครที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม หรืออยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับผ้าไทยมากขึ้นสามารถไปชมนิทรรศการต่างๆ ได้ที่ “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งพี่น้องชาวไทยต้องช่วยกันส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นศิลปะอันลำค่าของชาติและความภาคภูมิใจของคนไทยตราบนานเท่านานค่ะ

 

 

 


Tags : Fashion สมเด็จพระนางเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ราชินีสิ่งทอ พระราชกรณียกิจ ผ้าไทย ทอผ้า ผ้าไหมมัดหมี่ ตรานกยูงสัญลักษณ์พระราชทาน

บทความที่คุณอาจสนใจ

วิจิตรเลอค่า แม่ของแผ่นดินฉลองพระองค์ในผ้าไทย

แม่ก็คือแม่ ซื้อของขวัญวันแม่แบบไหนโดนใจชัวร์

10 คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวสุดเปรี้ยว สุดดสตรวองง!

7 คู่แม่ลูกสุดเปรี้ยวแห่งวงการแฟชั่น

สัมภาษณ์ ต้าเหนิง กัญญาวีร์ สาวเท่หน้าเฉี่ยวกับสไตล์ที่เปรี้ยวจนได้เป็นแฟชั่นไอคอนคนล่าสุด!

ADVERTISEMENT
Top