Watches and Wonders 2024 ถือเป็นโอกาสพิเศษของเมซงเพียเจต์ ในการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ซึ่งนอกจากนำเสนอผลงานที่เป็นจารึกบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนาฬิกา อย่าง Altiplano Ultimate Concept Tourbillon แล้ว ในพาร์ทของคอลเลคชั่นไฮจิวเวลรี่ ก็ชวนเซอร์ไพรส์ไม่แพ้กัน โดยเป็นการต่อยอดจากชิ้นงานที่เผยโฉมในปี 2023 ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาสไตล์ Cuff watch, นาฬิกาที่มาในดีไซน์สร้อยเส้นยาวแบบ sautoir ที่เผยโฉมครั้งแรกในปี 1969 ไปจนถึง นาฬิกาไฮจิวเวลรี่ Aura หนึ่งในผลงานที่กลายเป็นไอคอนิกชั่วพริบตาเมื่อครั้งเปิดตัวในปี 1989 ซึ่งทุกชิ้นถูกตีความให้ออกมานอกกรอบและเป็นที่น่าจดจำ ทั้งยังผนวกหัตถศิลป์อันละเมียดละไมไว้ครบครัน เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่สะท้อนความสง่างามแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง
ช่างฝีมือของเพียเจต์ไม่ได้เป็นเพียงช่างทำนาฬิกาและอัญมณีเท่านั้น แต่พวกเขาคือช่างทำนาฬิกาที่ผ่านการบ่มเพาะความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านอัญมณี อีกทั้งหัตถศิลป์ต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นเหมือนสัญชาตญาณที่โลดแล่นอยู่ในตัวช่างฝีมือของเมซงที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการทำทองในอเตลิเยร์ที่ค่อนข้างเฉพาะตัวและหาใครเทียบได้ยาก, การฝังอัญมณี ที่ใช้เทคนิคต่างกันเพื่อเสริมประกายงามของวัสดุแต่ละชิ้นให้เจิดจรัสมากที่สุด, ความกล้าที่จะหยิบเอาโลหะมีค่า หรือ precious metal มาสร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการนาฬิกาและไฮจิวเวลรี่ - ด้วยทักษะที่กล่าวมาทั้งหมดจึงส่งให้ช่างฝีมือของเพียเจต์แตกต่างจากช่างฝีมือทั่วไป
SWINGING SAUTOIR
เพื่อให้เห็นถึงวิวัฒนาการและพลังการสร้างสรรค์นาฬิกาไฮจิวเวลรี่ของเพียเจต์ เราจะพาย้อนไปทำความรู้จักอีกครั้ง - เพียเจต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1874 ณ หมู่บ้าน La Côte-aux-Fées - ปี 1957 ท่ามกลางการแข่งขัน เพียเจต์ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบอกเวลาชั้นสูง ด้วยการเปิดตัวกลไกจักรกลที่บางที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น อย่าง คาลิเบอร์ 9P ปฐมบทที่สร้างชื่อให้เมซงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะของผู้ผลิตนวัตกรรมเรือนเวลาที่สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยความเพรียวบางอย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้การที่แบรนด์ประกาศทิศทางการทำงานโดยมุ่งเน้นไปที่การใช้โลหะมีค่า หรือ precious metal ยังส่งให้เมซง ก้าวไปสู่การเป็นปรมาจารย์ด้าน Haute Horlogerie และ Haute Joaillerie ในเวลาเดียวกัน
จนกระทั่งในปี 1969 เพียเจต์ได้เผยโฉมนาฬิกาที่มาในดีไซน์สร้อยเส้นยาวแบบ sautoir คอลเลคชั่นแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยความล้ำสมัย ณ เมืองบาเซิล - ผลงานการออกแบบชิ้นนี้ไม่เพียงนำรายละเอียดทางงานฝีมือในอดีตมาถอดรหัสใหม่ แต่ยังผสมผสานศาสตร์แห่งนาฬิกา, คาลิเบอร์ 9P, ความตระการตาของหินสี ไปจนถึงสไตล์ที่ตื่นตาตื่นใจของเหล่าเจ็ทเซ็ตเตอร์ช่วงยุค 1960s และ 1970s ไว้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น ดีไซน์แบบบิดเกลียวที่ชวนสะดุดตาทั้งขนาด การเล่นสี และวัสดุที่นำมาใช้, เลเยอร์ได้หลากดีไซน์ เสมือนเป็นสร้อยคอ หรือ เข็มขัด อีกทั้งพลิ้วไหวตามท่วงท่าการเดิน จึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ Swinging Sautoir
ปี 2024 เพียเจต์เผยโฉม Swinging Sautoir 3 โมเดลใหม่ด้วยกัน โดย 2 ใน 3 รุ่นสามารถปรับแต่งให้สวมกับข้อมือได้ตามแบบฉบับเรือนเวลาทั่วไป - อย่างเรือนแรก แม้ดีไซน์จะเรียบง่าย แต่ขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมาก โดยเริ่มต้นจากช่างฝีมือนำเส้นลวดทองคำมาพันให้ได้ลักษณะเป็นขด จากนั้นนำมาบิดต่อด้วยมือทีละเส้น ก่อนถักทอและประกอบเป็นชิ้นเดียวกับนาฬิกา
Swinging Sautoir แต่ละรุ่นยังมาในดีไซน์แปลกตากว่าที่เคย กับตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมคางหมูที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของ sautoir watch ปี 1969 - สีฟ้าและสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ในยุค 1970s ปรากฎบนโมเดลถัดมาเช่นกัน โดยเมซงเลือกประดับด้วยหินสีอย่าง เทอร์ควอยซ์และมาลาไคท์ ขณะที่สายสร้อยตกแต่งด้วยเพชรบริลเลียนต์คัตที่ส่องประกายระยิบระยับสลับกับแซฟไฟร์สีเหลือง หน้าปัดประดับเทอร์ควอยซ์ โดยห้อยลงมาจากอัญมณีล้ำค่าคู่หนึ่ง – แซฟไฟร์สีเหลืองหายาก ขนาด 29.24 กะรัต จากศรีลังกา และ อความารีน ขนาด 6.11 กะรัต ขณะที่ตัวเรือนนาฬิกาออกแบบให้ถอดเปลี่ยนสายสร้อยได้อย่างง่ายดาย และสามารถเลือกจับคู่กับสายรัดข้อมือซาตินสีเขียวได้อีกด้วย – อีกชิ้นงานที่สะท้อนถึงความขี้เล่นบนความเรียบหรูอย่างแท้จริง
โมเดลสุดท้ายยังคงออกแบบให้ปรับแต่งได้ โดย Swinging Sautoir เส้นนี้มาพร้อมสายสร้อยเส้นคู่ในสไตล์ tassel - สายเส้นสั้นประดับเพชรและจี้โอปอลคาโบชอง 11.68 กะรัต ในเฉดสีขาวที่แสดงประกายรุ้งอย่างเด่นชัด ก่อนร้อยเรียงเข้ากับตัวเรือนนาฬิกา เสริมความสง่างามขึ้นไปอีกขั้นด้วยพู่ระย้าประดับเพชร, ทองคำ, คาลซิโดนี และแซฟไฟร์สีเหลืองหายากเจียระไนแบบเหลี่ยม emerald cut
CUFF WATCH
นาฬิกาทรงกำไลเป็นที่นิยมอย่างมาก นับตั้งแต่เพียเจต์เปิดตัวครั้งแรกในปี 1969 ซึ่งนอกจากดีไซน์ ขนาดรูปร่างที่สร้างความแปลกตาแล้ว ยังหลอมรวมศาสตร์แห่งทองคำและความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุได้อย่างน่าอัศจรรย์: โครงสร้างของตัวเรือนเป็นงานฉลุแบบโอเพ่นเวิร์ค ที่เผยให้เห็นเท็กซ์เจอร์ของชิ้นงานและสีสันของหน้าปัด จนได้รับการขนานนามจากสื่อว่า watches of the international elite
โดยปีที่ผ่านมานาฬิกาทรงกำไลในชื่อ 'Hidden Treasures' สามารถคว้ารางวัล GPHG สาขา Ladies’ Category มาครองได้อีกด้วย - ในปี 2024 นี้ เมซงเตรียมเผยเรือนเวลาไอคอนที่เปี่ยมด้วยสไตล์ที่ไม่เหมือนใครอีกครั้ง มาพร้อมหน้าปัดประดับแบล็ค โอปอล ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยสายโซ่ทองคำที่ถักทออย่างพิถีพิถัน โดยช่างฝีมือนำมาบิดทีละเส้นด้วยมือ ก่อนร้อยเรียงต่อกันอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับปะการังที่กำลังพลิ้วไหวอย่างอิสระในสไตล์อสมมาตรรอบพื้นหน้าปัด - ทั้งหมดนี้คือหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศด้านการใช้สีสันและศาสตร์การทำทองที่บ่มเพาะมาอย่างยาวนาน
AURA
อีกหนึ่งผลงานที่กลายเป็นไอคอนิกชั่วพริบตาเมื่อครั้งเปิดตัวในปี 1989 ต้องยกให้นาฬิกาไฮจิวเวลรี่ Aura ที่นอกจากนำเสนอความท้าทายในเชิงเทคนิคของสายนาฬิกาและตัวเรือนที่ผสานเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว การฝังเพชรแต่ละเม็ดให้เรียงตัวอย่างประณีตและเชื่อมต่อกันอย่างแนบสนิทไร้รอยต่อถือเป็นอีกหนึ่งไมล์สโตนที่แบรนด์พัฒนาดีไซน์และก้าวผ่านขีดจำกัดดั้งเดิมได้อย่างไร้ที่ติ เรียกว่านอกจากประกายของอัญมณีที่ชวนให้ลุ่มหลงแล้ว ภายในตัวเรือนยังไร้ที่ติ ขับเคลื่อนด้วยกลไกไขลานด้วยมือชนิดบางพิเศษ คาลิเบอร์ 40P ขณะที่เมซงส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้นยังคงใช้กลไกแบบควอตซ์เป็นกลไกหลัก
เนื่องในโอกาสครบรอบ 35 ปี นับตั้งแต่เผยโฉมนาฬิกาไฮจิวเวลรี่ Aura เรือนแรก ปีนี้เมซงเฉลิมฉลองไอคอนอันล้ำค่านี้อีกครั้งด้วยการเปิดตัว 2 เรือนเวลาพิเศษที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีให้เลือก 2 ขนาด ซึ่งทั้งคู่ประดับด้วยอัญมณีหลักอย่าง ทับทิม, แซฟไฟร์สีชมพู และเพชร โดยแต่ละเม็ดผ่านการเจียระไนและฝังด้วยเทคนิคพิเศษ ช่วยให้แสงส่องผ่านทับทิมบนพื้นหน้าปัดมากขึ้น จึงส่งมอบชิ้นงานที่ส่องประกายระยิบระยับ มีมิติ เข้ากับความงดงามของเพชรทรงบาแก็ตต์ได้อย่างไร้ที่ติ
ขณะที่อีกเวอร์ชั่นนำเสนอการไล่เฉดสีที่สวยงาม โดยร้อยเรียงจากสีแดงเข้มของทับทิม ก่อนค่อยๆ จางลงไปจนถึงแซฟไฟร์สีชมพู และเพชร ตามลำดับ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทั้งทักษะของช่างฝีมือและเวลาในการแสวงหาแซฟไฟร์เพื่อให้ได้โทนสีที่ไล่เฉดตามต้องการ - การเติมเต็มเรือนเวลาทั้ง 2 ชิ้นเข้ามาในคอลเลคชั่น Aura นี้ ถือเป็นความท้าทายอีกระดับในแวดวงเครื่องประดับชั้นสูงและการผลิตนาฬิกา
อีกทั้งการประกาศไมล์สโตนในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เมซงประกาศเปิดตัว Piaget Polo 79 ไป เมื่อช่วง Pre Watches and Wonders ที่ผ่านมา โดยในฤดูกาลนี้เมซงต้องการเน้นย้ำถึงแก่นแท้ในสิ่งที่เพียเจต์เคยเป็น เป็นอยู่ และจะเป็น ตามที่ มร.อีฟ เพียเจต์ (Yves Piaget) เคยกล่าวไว้ว่า "ผมอยากจะแสดงให้เห็นว่านาฬิกาและเครื่องประดับของเพียเจต์เปรียบดั่งผลงานทางศิลปะอันล้ำค่าอย่างแท้จริง และคนที่สร้างสรรค์นาฬิกาเหล่านั้นก็คือศิลปินตัวจริง"