ทุกวันนี้เปิดโซเชี่ยลมาคืองงมาก เจอคำศัพท์ใหม่ๆ เข้าไปถึงกับอึ้ง เพราะอ่านไม่รู้เรื่องค่าาา มีคำใหม่ออกมาให้ได้ปวดหัวกันทุกวัน ถ้าพลาดการเล่นโซเชี่ยลไป 1 วัน คือเปิดมาแล้วคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องทันที งั้นวันนี้มาอัพเดทคำศัพท์ใหม่ๆ ในโลกออนไลน์กันดีกว่า มาดูกันสิว่า คำเหล่านี้มีความหมายว่าอะไร และใช้ยังไงบ้าง ไปดูกันเลย~
1. พส.
พส. แปลว่า พระสงฆ์
พส. (พอ-สอ) เดิมทีย่อมาจาก เพื่อนสาว หรือพี่สาว ใช้แทนคำว่า ซิส (Sis) ที่เราเคยใช้กันช่วง 10 ปีก่อน แต่ในปัจจุบัน พส. มีความหมายเปลี่ยนไป หมายถึง “พระสงฆ์” เป็นคำที่พุทธศาสนิกชนใช้เรียก พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ผ่านทางไลฟ์สด โดยพระมหาไพรวัลย์กล่าวกับชาวเน็ตว่า เรียก พส. ที่แปลว่าเพื่อนสาว/พี่สาวไม่ได้ ต้องแปลว่า พระสงฆ์ หลังจากนั้น พส. จึงใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อเรียกแทนพระสงฆ์ค่ะ
Image source : www.facebook.com/paivan01
2. สภาพ
สภาพ แปลว่า สภาพ, สารรูป, สังขาร
สภาพ ใช้ในสถานการณ์ที่อยากให้ผู้ฟังได้ลองมองดูตัวเอง (หรือสิ่งของ) แล้วพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน ก่อนที่จะไปว่าคนอื่น (หรือสิ่งอื่น) และสามารถใช้ในบทสนทนาที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกายได้
- เช่น ร่างกายไม่ไหวแต่บอกไหว อันนี้เพื่อนก็ต้องเตือนว่า “สภาพ! ไม่ไหวอย่าฝืน” เป็นต้น
คำนี้ก็ฮิตขึ้นมาจากพระมหาไพรวัลย์เช่นเดียวกันค่ะ
Image source : www.palm-plaza.com
3. เอาอะไรมา...
เอาอะไรมา... แปลว่า ไม่
เอาอะไรมา... ใช้นำหน้าคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ และคำวิเศษณ์ มักใช้ในบริบทคำถาม แต่ไม่ต้องการคำตอบ เช่น
- เช่น เอาอะไรมาไหว = ไม่ไหว
- เอาอะไรมาสวย = ไม่สวย
หรืออาจใช้ “ไม่” นำหน้าคำที่ต้องการขยายอีกที เพื่อให้ได้ความหมายว่า “มาก” (ไม่+ไม่ = ใช่) เช่น
- เอาอะไรมาไม่ปัง = ปังมาก
- เอาอะไรมาไม่สวย = สวยมาก
ใช้ร่วมกับความว่าสภาพก็ได้นะคะ เช่น เอาอะไรมาไหว ถามก่อน สภาพ!
4. เอาปากกามาวง
เอาปากกามาวง แปลว่า เป๊ะมาก, ใช่มาก, เหมือนมาก หรือชี้ชัดชี้จุดที่ชัดเจน
เอาปากกามาวง นิยมใช้ในบริบทเปรียบเทียบ แปลว่า เป๊ะมาก, ใช่มาก, เหมือนมาก
- เช่น นางสาวเอใส่เสื้อผ้าชุดเดียวกับ ใหม่ ดาวิกา แล้วถ่ายภาพอัพลงโซเชี่ยล ก็จะเขียนแคปชั่นภาพว่า “ไม่เหมือนตรงไหน เอาปากกามาวง” = วันนี้นางสาวเอแต่งตัวเหมือน ใหม่ ดาวิกา เป๊ะ! แม้จะไม่ได้หน้าสวยเป๊ะแบบใหม่ แต่ชุดเป๊ะ และอินเนอร์ใช่ถือว่าผ่านค่ะ
หรือใช้ในบริบทที่ต้องการให้ผู้ฟังชี้จุดที่ชัดเจน
- เช่น นางสาวบีวาดรูปออกมารูปหนึ่ง ซึ่งเธอมั่นใจมากว่าสวย แต่เพื่อนบอกว่าไม่สวย จึงถามเพื่อนว่า “ไม่สวยตรงไหน เอาปากกามาวง” = นางสาวบีไม่ได้ต้องการให้เพื่อนเอาปากกามาวงรูปจริงๆ แต่ต้องการให้ชี้จุดที่ไม่สวย พร้อมคำอธิบายอย่างชัดเจนค่ะ
กลุ่มคำนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเกมจับผิด Photo Hunt ที่ผู้เล่นต้องเอาปากกามาวงจุดที่แตกต่างกันในภาพนั่นเอง
Image source : giphy.com
5. ต๊าชชช
ต๊าชชช แปลว่า ปังที่สุด, ดีที่สุด, ชอบมาก, แซ่บมาก, ถูกใจมาก, กรี๊ดมาก, กระแทก
ต๊าชชช ส่วนใหญ่ใช้เป็นคำอุทานค่ะ อารมณ์แบบเห็นปุ๊บกรี๊ดปั๊บ ก็ใช้คำว่า “ต๊าชชช” แทนไปเลย คำเดียวจบ อย่าลืมใส่อินเนอร์แบบ สไปรท์ บาบาบิ ด้วยนะคะ คำนี้มาจากคำพูดติดปากของ สไปรท์ ที่มักใช้เวลาดูนางงาม ใครเดินสวยมาก ฟาดมาก เธอก็จะอุทานออกมาว่า “ต๊าชชช” ค่ะ แปลว่านางงามคนนี้ถูกใจเธออย่างแรง!
Image source : tenor.com
6. แบบใหม่แบบสับ
แบบใหม่แบบสับ แปลว่า สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน, ไม่เคยเห็นมาก่อน
คำนี้ก็ง่ายๆ เลยค่ะ ใช้กับอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน แบบตรงๆ ไม่มีนัยยะแฝง
- เช่น ชานมไข่มุกแบบใหม่แบบสับร้านนี้คือดี = ชานมไข่มุกสูตรใหม่ของร้านนี้อร่อยมากค่ะ
7. ตำ
ตำ แปลว่า ซื้อ
ตำ ใช้เพื่อเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกให้มีความกระแทกมากขึ้น ถ้าใช้คำว่า “ซื้อ” อาจจะหมายถึงการซื้อของทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน แต่คำว่า “ตำ” มักใช้กับของลดราคา มีโปรโมชั่นเด็ด หรือของที่ต้องรีบซื้อไม่อย่างนั้นจะหมด จึงต้องรีบไปตำค่าาา
- เช่น แก~~ วันนี้ที่ห้างฯ ลดแรงมาก ต้องรีบไปตำเด้อออ เดี๋ยวของแซ่บๆ จะหมดไปเสียก่อนจ้าาา
Image source : giphy.com
8. จึ้ง
จึ้ง แปลว่า เลิศ, ดี, ปัง, สวย
คำนี้เดิมทีชาว LGBTQ+ ก็ใช้กันอยู่แล้วค่ะ แต่พอพระมหาไพรวัลย์นำมาใช้ ก็ทำให้ “จึ้ง” กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง และใช้กันในวงกว้างมากขึ้น
- เช่น เธอดูนางแบบคนนี้สิ หุ่นจึ้งมาก = นางแบบคนนี้หุ่นดีมาก สวยมาก
Image source :
9. ความโป๊ะเป็นศูนย์
ความโป๊ะเป็นศูนย์ แปลว่า ไม่โป๊ะเลย เป๊ะเว่อร์, ไร้ที่ติ, เพอร์เฟ็คต์
คำนี้ต้องอธิบายคำว่าโป๊ะก่อน “โป๊ะ” มาจาก โป๊ะแตก แปลว่า ไม่ดี, ไม่สวย, ไม่เลิศ, ไม่เนียน เมื่อความโป๊ะเป็นศูนย์ก็จะแปลว่า ดี ค่ะ
- เช่น วันนี้ลูกสาวสวยมาก ความโป๊ะเป็นศูนย์ = วันนี้ลูกสาวสวยมาก สวยไร้ที่ติ เพอร์เฟ็คต์สุดๆ
- ถ้าลูกสาวที่กล่าวถึงเป็นสาวประเภทสองก็จะแปลได้อีกว่า = วันนี้ลูกสาวสวยมาก มีความเป็นผู้หญิงสูงค่ะ
Image source : giphy.com
10. ตุย
ตุย แปลว่า ตาย, ไม่ไหว, เหนื่อย, เพลียขั้นสุด
ตุย เป็นคำน่ารักๆ ของคำว่าตาย ใช้กับคนที่ไม่ได้ตายจริงๆ หรือคนที่หายหน้าหายตาไปนาน ไม่ติดต่อมาจนเหมือนคนตาย อีกนัยหนึ่งก็แปลว่า เหนื่อยมาก อ่อนเพลียจนไม่มีแรงจะทำอะไร สภาพไม่ต่างจากคนตาย
- เช่น วันนี้เหนื่อยมาก ทำงานกลางแดดตั้งแต่ 6 โมงเช้ายันเที่ยงคืน แบบนี้ขอตุยดีกว่า
- หรือ ว้ายยย เธอหายไปไหนมา ฉันนึกว่าเธอตุยไปแล้วนะเนี่ย
Image source : giphy.com
11. บ้ง
บ้ง แปลว่า ไม่ดี, ไม่เริ่ด, ไม่สวย, เละเป็นโจ๊ก
บ้ง เป็นคำที่ใช้กันทั่วไป เมื่อต้องการบอกว่าสิ่งนี้ไม่ดี ไม่เริ่ด ไม่สวย ไม่มีนัยยะอื่นแอบแฝงค่ะ
- เช่น นางงามคนนี้ทำผมบ้งมาก ฟูยุ่งอย่างกับรังนก = นางงามคนนี้ทำผมไม่สวยเลย ผมยุ่งมาก
Image source : giphy.com
12. แกง
แกง แปลว่า แกล้ง, ทำให้ขายหน้าในที่สาธารณะ, หลอก
แกง สันนิษฐานว่าเป็นคำคล้องเสียงกับคำว่า แกล้ง และการทำแกงก็จะมีกริยาคล้ายๆ กับการต้มตุ๋น หลอกลวงค่ะ
- เช่น นี่เธอลากฉันมาแกงใช่มั้ย ต้มกันซะเปื่อยเลย = เธอพาฉันมาเพื่อแกล้งใช่มั้ย หลอกกันซะได้
ปัจจุบัน “แกง” ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในชีวิตจริงและโลกโซเชี่ยล ขั้นกว่าของคำว่าแกงก็คือ “แกงหม้อใหญ่” ซึ่งหมายถึงการกลั่นแกล้งหรือหลอกลวงครั้งใหญ่ ทั้งกลุ่มรวมหัวกันแกล้งคนๆ เดียว แต่ความหมายจะไปทางน่ารักๆ ไม่ได้หมายถึงรุมตบตีกันจริงๆ นะคะ เช่น หลอกเพื่อนออกมา เพื่อเซอร์ไพร์สวันเกิด เป็นต้น
Image source : giphy.com
13. กาสะลอง-ซ้องปีบ, มุนินทร์-มุตตา
กาสะลอง-ซ้องปีบ, มุนินทร์-มุตตา แปลว่า เหมือน
กาสะลอง-ซ้องปีบ, มุนินทร์-มุตตา ใช้เปรียบเทียบของสองสิ่งที่มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน มาจากตัวละครฝาแฝดที่โด่งดังในละคร ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะใช้คำว่า ผักบุ้ง-กุ้งนาง, เอื้อย-อ้าย แต่ยุคใหม่นี้ไม่ใช้กันแล้วนะคะ ใช้กาสะลอง-ซ้องปีบ, มุนินทร์-มุตตา แทนค่ะ ใครใช้ผักบุ้ง-กุ้งนาง คือแก่เด้อ~~ บอกอายุทันทีเลยค่าาา
Image source : ch3plus.com
14. ตุ้บ
ตุ้บ แปลว่า ตกรอบ, ไม่ผ่าน
ตุ้บ เริ่มแรกใช้กับการดูนางงาม คนไหนตกรอบ หรือไม่ผ่านเข้ารอบก็จะเรียกว่าตุ้บค่ะ หลังๆ มานี้ตุ้บถูกใช้อย่างแพร่หลาย เช่น
- ไปสัมภาษณ์งานไม่ผ่าน = ตุ้บ
- ไปเสนองานลูกค้าไม่ผ่าน = ตุ้บ
- ส่งงานเข้าประกวดแล้วตกรอบ = ตุ้บ เป็นต้น
Image source : giphy.com
15. ตาหลุด
ตาหลุด แปลว่า อลังการ, ยิ่งใหญ่, งานใหญ่, มากๆ, งานละเอียด, งานดี
ตาหลุดเป็นคำขยายที่แสดงถึงความมาก ความเยอะ ความยิ่งใหญ่อลังการแบบสุดๆ
- เช่น ดูงานแต่งนี้สิเธอออ ตาหลุดอยู่เด้อ~ = งานแต่งงานนี้ยิ่งใหญ่อลังการมากๆ
- หรือ เธอดูผู้หญิงคนนั้นสิ ตาหลุดเว่อร์ = ผู้หญิงคนนั้นงานดี สวยเว่อร์ เป็นต้น
Image source : tenor.com
16. ฉีดยา
ฉีดยา แปลว่า อวยเกินจริง
ฉีดยาเป็นคำที่ใช้พูดชื่นชมคนอื่นด้วยคำที่เว่อร์อลังการ จนดูเกินจริงไปนิดนึง
- เช่น วันนี้ลูกสาวสวยมาก สวยเหมือนนางฟ้าลงมาจากสวรรค์ = ฉีดยาหนึ่ง
หรือผู้ที่ถูกชมอาจจะพูดออกมาเมื่อถูกชื่นชม เพื่อเป็นการถ่อมตัว
- เช่น “วันนี้น้องอแมนด้าสวยมากๆ” อแมนด้าก็จะตอบว่า “แหม พี่ก็ฉีดยาเก่ง” = อแมนด้าถ่อมตัว รู้แหละว่าตัวเองสวยแต่ก็ขอถ่อมตัวนิดนึงค่าาา
สันนิษฐานว่า “ฉีดยา” จะมาจากการฉีดสารเสพติดเข้าร่างกาย พอฉีดแล้วก็จะลอย เคลิ้ม มีความสุข คำอวยก็เช่นกัน ที่ได้ยินแล้วก็เคลิ้มมีความสุขค่ะ แม้ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม แค่ได้ฟังก็ชื่นใจแล้ววว
Image source : tenor.com
17. ...ไม่ไหว
...ไม่ไหว แปลว่า มากๆ
...ไม่ไหว มักใช้ลงท้ายคำวิเศษณ์ เช่น สวย, อร่อย, สนุก ขยายให้คำๆ นั้นเป็นขั้นกว่า เช่น
- สวยไม่ไหว = สวยมากๆ
- อร่อยไม่ไหว = อร่อยมากๆ
- สนุกไม่ไหว = สนุกมากๆ
คำนี้ดังมากใน Tiktok กับฟิลเตอร์เสียงสั่นค่ะ พวกคลิปรีวิวต่างๆ มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “ปังไม่ไหว~~” ให้อารมณ์แบบปังมากกก ก.ไก่ ร้อยตัวค่าาา
แต่ละคำบอกเลยว่า “จึ้ง” มาก ต่อไปนี้ได้ยินแล้วก็จะไม่งง เข้าใจตรงกัน และนำไปใช้กับเพื่อนๆ ได้อย่างสนุกสนาน ย้ำว่าใช้ได้กับเพื่อนและคนสนิทเท่านั้นนะคะ อย่าเอาไปใช้ในงานที่เป็นทางการล่ะ เดี๋ยวเขาจะงงเอาได้ค่าาา