ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประชาชนสามารถร่วมถวายดอกไม้จันทน์ได้ โดยสามารถประดิษฐ์ไปเอง หรือรับจากเจ้าหน้าที่ ณ จุด ที่เข้าร่วมพิธีก็ได้ แต่ดอกไม้จันทน์ไม่ได้มีแค่แบบเดียวค่ะ แต่มีหลากหลายแบบมาก ซึ่งดอกไม้จันทน์แบบพระราชทานมีด้วยกันทั้งหมด 7 แบบ ได้แก่ ดอกดารารัตน์ ดอกกล้วยไม้ ดอกชบาทิพย์ ดอกชบาหนู ดอกลิลลี่ ดอกพุดตาน และดอกกุหลาบ ทั้งหมดนี้ออกแบบและถ่ายทอดโดยข้าราชบริพาร โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง-ชาย) และหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ แต่ละดอกจะหน้าตาเป็นอย่างไรไปดูกันเลยค่ะ
ดอกไม้จันทน์ คือตัวแทนของความรัก ความอาลัยต่อผู้ล่วงลับ สมัยก่อนใช้เฉพาะกับชนชั้นสูงเท่านั้น ในเวลาต่อมาไม้จันทน์หายากขึ้นเรื่อยๆ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงคิดค้นประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เทียมขึ้น โดยนำเปลือกไม้จันทน์ (Sandlewood) มาฝานบางๆ แล้วเข้าช่อเป็นดอกไม้ ในเวลาต่อมาดอกไม้จันทน์ก็แพร่หลายมากขึ้นในหมู่คนทั่วไป แต่ไม้จันทน์เป็นไม้มงคล หายาก และมีราคาแพง จึงนำไม้อย่างอื่นมาทำแทน เช่น ไม้โมก เป็นต้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดกิจกรรม "โครงการจิตอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์พระราชทาน" ให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้การทำดอกไม้จันทน์แบบพระราชทานทั้ง 7 แบบ เพื่อถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย ดอกไม้จันทน์ทั้ง 7 แบบ ได้แก่
1. ดอกดารารัตน์
ดอกดารารัตน์ หรือดอก Daffodil เป็นดอกไม้ทรงโปรดของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์มักมอบให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์อยู่เสมอ เมื่อครั้งประทับอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ จึงมีความหมายว่า มอบให้แก่บุคคลอันเป็นที่รัก โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และยังหมายถึงพระเกียรติยศ ความกล้าหาญ เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ดารา = ดวงดาว หมายถึง สิ่งที่อยู่สูงสุด และ รัตน์ = แก้ว หมายถึง สิ่งมีค่า
2. ดอกกล้วยไม้
ดอกกล้วยไม้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ความรัก และความสง่างาม ดั่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีมากมายนับไม่ถ้วน
3. ดอกชบาทิพย์
ดอกชบาทิพย์เป็นดอกไม้ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เพื่อสื่อถึงการดับสูญและความเป็นทิพย์ เป็นการถวายความอาลัยครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงสถิตในดวงใจของประชาชนชาวไทยตลอดไป
4. ดอกชบาหนู
ดอกชบาหนูเปรียบเสมือนความอาลัยในการสูญเสียของพสกนิกรชาวไทย เป็นสัญลักษณ์แทนดวงใจไทยทุกดวง ในการน้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
5. ดอกลิลลี่
ดอกลิลลี่แสดงถึงความรักที่บริสุทธิ์เช่นเดียวกับดอกกุหลาบขาว ลิลลี่ยังแสดงถึงความซื่อสัตย์และเทิดทูนอีกด้วยค่ะ
6. ดอกพุดตาน
ดอกพุดตานเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ ชาวจีนเชื่อว่าเป็นไม้มงคล เพราะดอกพุดตานสามารถเปลี่ยนสีได้ถึงสามสีภายในวันเดียว เปรียบเสมือนวัฏจักรชีวิตของมนุษย์ ที่เริ่มต้นด้วยวัยเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว เติบโตขึ้นพร้อมกับสีสัน และอายุมากขึ้นพร้อมกับสีที่เข้มขึ้น จนกระทั่งร่วงโรยจากไป
7. ดอกกุหลาบ
ดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักอันบริสุทธิ์ แสดงออกถึงความจงรักภักดีของชาวไทยที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
นอกจาก 7 แบบนี้ แต่ละจังหวัดก็ยังมีดอกไม้จันทน์แบบประจำจังหวัดอีกด้วย เช่น จ.นนทบุรี ก็เป็นดอกนนทรี และยังมีแบบอื่นๆอีกเพียบ สำหรับประชาชนที่ตั้งใจไปร่วมถวายดอกไม้จันทน์สามารถไปได้ตามสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ ทั้งที่พระเมรุมาศจำลอง และซุ้มดอกไม้จุดต่างๆในกรุงเทพฯ การถวายดอกไม้จันทน์ถือเป็นการถวายความอาลัยครั้งสุดท้ายให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แต่ถึงอย่างไรประชาชนชาวไทยก็คงไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพวกเราทุกคนค่ะ
ข้อมูลจาก คู่มือการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์พระราชทาน
[อัพเดท] ช่วงเวลาวางดอกไม้จันทน์แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 09.00 - 16.30 น. และ 18.00 - 22.00 น. ณ พระเมรุมาศจำลอง 9 แห่ง ได้แก่
1. พระลานพระราชวังดุสิต
2. กองสลากเดิม
3. สวนนาคราภิรมย์
4. ลานปฐมบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ 1 สะพานพุทธ
5. ลานคนเมือง
6. สนามกีฬาธูปะเตมีย์
7. พุทธมณฑล
8. ไบเทค บางนา
9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นอกจากนี้ยังมีซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ในกรุงเทพฯ อีก 42 แห่ง และที่วัดต่างๆในเขตกรุงเทพฯ อีก 63 แห่ง เช็คสถานที่ใกล้บ้านได้ที่ > kingrama9.net/SandalwoodFlowers ค่ะ