ในปีนี้วันไหว้พระจันทร์ตรงกับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566 หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 มีใครไหว้พระจันทร์กันบ้างคะ วันไหว้พระจันทร์ถือเป็นวันครอบครัว หลายๆ บ้านก็จะนัดกันมาทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา และไหว้พระจันทร์ด้วยกัน รวมทั้งทานขนมไหว้พระจันทร์อันเป็นไฮไลท์ของงาน วันนี้ตามเฟียร์ซมาเปิดตำนานวันไหว้พระจันทร์พร้อมกันเลยค่าาาา
ตำนาน ‘เทพธิดาฉางเอ๋อ’ บนดวงจันทร์
มีตำนานเล่าว่าเมื่อก่อนโลกเรามีดวงอาทิตย์ 10 ดวง ทำให้พื้นดินร้อนและแห้งแล้งมาก มีนักยิงธนูคนหนึ่งชื่อว่า “โฮ่วอี้” ได้ยิงธนูดอกเดียวใส่ดวงอาทิตย์ 9 ดวงดับไป จนเหลือดวงอาทิตย์เดียว เขาจึงได้ยาวิเศษจากเทพเพื่อเป็นอมตะ แต่เขาต้องการอยู่กับคนรักนามว่า “ฉางเอ๋อ” บนโลกมากกว่า จึงให้นางเก็บยานั้นไว้ วันหนึ่งเขาได้ออกไปล่าสัตว์ และมีคนเข้ามาที่บ้านเพื่อขโมยยาวิเศษ ฉางเอ๋อไม่ยอมจึงดื่มยานั้นเข้าไป และได้กลายเป็นอมตะ เหาะขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ เพราะดวงจันทร์เป็นดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เธอจะได้จ้องมองสามีจากบนนั้น ส่วนสามีเมื่อกลับมาถึงบ้าน ทราบเรื่องแล้วก็เสียใจมาก ได้แต่แหงนมองดวงจันทร์เมื่อคิดถึงภรรยา ต่อมาชาวบ้านก็ทำพิธีไว้พระจันทร์เพื่อทำความเคารพเทพธิดาฉางเอ๋อค่ะ
จากตำนานนี้พระจันทร์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความคิดถึง เมื่อต้องห่างไกลจากบ้าน คนรัก และครอบครัว ให้เราแหงนมองพระจันทร์ เพราะไม่ว่าที่ไหนบนโลกเราก็จะเป็นพระจันทร์ดวงเดียวกันกับคนที่เราคิดถึงค่ะ
เทศกาลไหว้พระจันทร์จะเกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทร์คติ ในปีนี้ตรงกับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566 เป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงของจีน ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลเก็บเกี่ยว อาจกล่าวได้ว่าชาวจีนโบราณไหว้พระจันทร์เพื่อขอกับเทพ ให้เทศกาลเก็บเกี่ยวเป็นไปได้อย่างราบรื่นค่ะ
วันไหว้พระจันทร์ยังถือเป็นวันที่ทำให้ชาวจีนได้รำลึกถึงบรรพบุรุษที่กอบกู้ชาติอีกด้วย ในสมัยก่อนชาวจีนถูกรุกรานโดยมองโกล กลุ่มบรรพบุรุษก็ได้ขับไล่ออกไปสำเร็จ โดยวิธีการแอบใส่จดหมายนัดแนะกันไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ ทำให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งวันที่ได้ชัยชนะตรงกับคืนพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 8 พอดี จึงถือวันนี้เป็นวันฉลองชัยชนะค่ะ
ปัจจุบันเทศกาลไหว้พระจันทร์ถือเป็นวันครอบครัวของคนเชื้อสายจีน ที่จะกลับมารวมตัวกัน ร่วมรับประทานอาหาร พบปะพูดคุย และผ่าขนมไหว้พระจันทร์เป็นชิ้นเท่าๆ กัน แบ่งกันทานคนละชิ้น แสดงถึงความสามัคคีในครอบครัวค่ะ
ขนมไหว้พระจันทร์ หมายถึง ความสุขและความสามัคคีของครอบครัว มักทำเป็นรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์เต็มดวง และปั๊มลายอักษรจีนที่มีความหมายมงคล แต่ในปัจจุบันก็มีการทำเป็นสี่เหลี่ยมบ้างตามสมัยนิยมค่ะ
“โหงวยิ้ง” เป็นไส้คลาสสิกของขนมไหว้พระจันทร์ ประกอบไปด้วยถั่วและธัญพืช 5 ชนิด ได้แก่ อัลมอนด์ วอลนัท เม็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา (หรืออาจเปลี่ยนไปตามสูตรของแต่ละร้าน และตามพืชพื้นถิ่นที่หาได้) ผสมผสานกับฟักเชื่อม เปลือกส้ม ผิวมะกรูด และมันหมู กินยังไงก็อร่อยค่าาาา ขนมไหว้พระจันทร์ในไทยไส้ที่ฮิตมากอีกหนึ่งอย่างก็คือไส้ทุเรียน เป็นไส้ที่ใครชอบก็จะชอบไปเลย แต่ใครที่ไม่ชอบก็จะไม่ชอบไปเลยค่ะ
การตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์
1. ตั้งโต๊ะกลางแจ้ง นอกชายคาบ้าน หรือบนดาดฟ้าบ้านก็ได้นะคะ
2. ไหว้ในช่วงเวลา 19.00 - 23.00 น. (ช่วงที่พระอาทิตย์ตกดินจนถึงก่อนเที่ยงคืน)
3. จัดโต๊ะแบบไหว้เจ้าปกติก็ได้ หรือแล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละบ้าน
ของที่ควรมี ได้แก่
- ขนมหวาน 4 อย่าง เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ ขนมเปี๊ยะ ขนมถั่ว เป็นต้น หรือขนมจีนอย่างอื่นที่หาได้
- ผลไม้ 4-5 อย่าง บางบ้านก็ไหว้ 4 อย่าง บางบ้านก็ไหว้ 5 อย่างค่ะ (แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละครอบครัว)
- อาหารเจ 4-5 อย่าง เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู ฟองเต้าหู้ วุ่นเส้น ดอกไม้จีน เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้อาหารเจที่เป็นอาหารแห้ง
- เครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม แป้ง ลิปสติก สบู่ โลชั่น เป็นต้น
4. โคมไฟ
5. กระดาษเงิน กระดาษทอง
6. ซุ้มต้นอ้อย
7. เทียน 1 คู่
8. เวลาไหว้ใช้ธูป 3-5 ดอก (แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละครอบครัว)
การไหว้พระจันทร์ไม่มีกฎตายตัว ส่วนใหญ่จะถือปฏิบัติตามที่ครอบครัวเคยทำกันมารุ่นสู่รุ่นค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- www.learningeast.com (1)
- www.learningeast.com (2)