สมัยนี้มนุษย์เราป่วยทางร่างกายน้อยลง เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย แต่ผู้ป่วยทางใจกลับเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ด้วยสังคมทุกวันนี้ทำให้คนเราต้องอยู่คนเดียวมากขึ้น Social Network ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่มีส่วนกระตุ้นทำให้พวกเขาป่วย ถ้าใช้ผิดวิธีและใช้มากเกินไป เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าพฤติกรรมแบบไหนมีความเสี่ยงสูงว่าจะ “ป่วย” ตามเฟียร์ซมาเช็คตัวเองกันเลยค่ะ
1. โรคติดจอ
คนสมัยนี้ติดจอมากกกก ไม่ว่าจะเดิน กิน นอน ไปเที่ยว หรือเข้าห้องน้ำก็ต้องมีสมาร์ทโฟนติดตัวเสมอ ลองเงยหน้าขึ้นมามองสิ่งรอบๆตัวบ้าง ไม่ใช่ไปทานข้าวกับเพื่อน แต่บรรยากาศเหมือนมารวมตัวกันนั่งเล่นโทรศัพท์เป็นหมู่คณะ อาการติดจอนี่นอกจากจะทำให้เสียบุคลิกแล้ว ยังทำให้เป็นโรควุ้นในตาเสื่อมได้อีกด้วย โดยเฉพาะเวลาเล่นในที่มืด นอกจากนี้การเล่นสมาร์ทโฟนก่อนนอนยังทำให้นอนหลับยาก และเสี่ยงต่อการเป็นโรค Nomophobia หรือ no-mobile-phone phobia อีกด้วยนะคะ
Image source : giphy.com
นี่ยังไม่นับรวมปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับคนติดจอ อันตรายมากๆ เพื่อนดิฉันเคยโดนฉกโทรศัพท์ที่ป้ายรถเมล์ ในขณะที่มีคนพลุกพล่านมาแล้ว น่ากลัวไหมล่ะคะสาวเฟียร์ซ
2. โรคติดอัพสเตตัส
ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร รู้สึกอย่างไร ก็อัพเดทให้เพื่อนในโซเชี่ยลรู้ตลอด เช่น
10.30 น. “วันเน่ สิวขึ้นหน้า 2 เม็ด ค่ะ! นอนดึกนิดเดียวเองอ่ะ”
11.00 น. “พาน้องหมามาตัดขนที่ xx คนเยอะมว๊ากกก รอตั้งหลายคิว คนตัดก็ตัดขนน้องเราเบี้ยวไป 2 มิล โอ้ยเพลีย”
11.10 น. “อีป้าอย่ามาแซงคิว ฉันมาก่อน เดี๋ยวแม่ตบไม่ยั้ง”
11.30 น. “ทานข้าวคนเดียวเหงาๆ เมื่อไรจะมีคนมาทานด้วยก็มิรู้ งุงิ”
(**อัพถี่ยิบทุก 10 - 15 นาที)
หลายอาจจะคิดว่าไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย facebook ก็คือพื้นที่ส่วนตัวของเรา อยากระบายอะไรก็ย่อมทำได้ ไม่อยากเห็นก็ unfriend ไปสิคะ แต่รู้ไหมว่าการที่สาวๆอัพสเตตัสบ่อยๆ เป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า อธิบายง่ายๆก็คือไม่มีเพื่อนตัวเป็นๆคอยรับฟัง ถึงขนาดต้องตั้งสเตตัสถี่ๆ อัพเดททุก 10-30 นาทีกันเลยทีเดียว อัพวันละ 5 สเตตัสนี่กลายเป็นระดับเบบี๋ไปเลยค่ะ
Image source : giphy.com
3. โรคขี้อวดผ่านโซเชี่ยล
Image source : giphy.com
หลายคนสะดุ้งเฮือกว่าจะใช่เรารึเปล่านะ ฟังก่อนอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจค่ะ เวลาที่เราซื้อของใหม่หรือทานข้าวมื้อหรูสักมื้อ โอกาสอย่างนี้ไม่ได้มีมาบ่อยๆ จะถ่ายรูปอัพลงโซเชี่ยลก็ไม่ผิด แต่อวดในที่นี่หมายถึงอวดเยอะเกินไปและถี่เกินไป แล้วแอ๊บว่านี่ไม่ได้อวดเลย ปกติชีวิตจริงมากๆ เช่น การอัพสเตตัสว่า
“กรี๊ดดดด เมื่อเช้าหาเบอร์กิ้นไม่เจอ เลยต้องหิ้วชาเนลคาเวีย แล้วไงโดนลินซี่ (ชื่อหมา) งับชาเนลเป็นรอยเคี้ยวเลยคร่าาาาา เดี๋ยวแม่ไม่ซื้อชวารอฟสกี้ให้ใส่เลย เชอะ ใช่เพนโดร่าไปเถอะ”
หรืออัพสเตตัสว่า “ช้อปปิ้งเบาๆ เสียไปนิดหน่อยเองค่ะ” พร้อมรูปนี้
Image source : www.india-forums.com
ค่ะ! แม่เจ้าประคุณทูนหัว ณ จุดนี้ ขอโนคอมเม้นท์ สาวเฟียร์ซดูออกอยู่แล้วเนอะว่าคนไหนตั้งใจอวดเกินไป แบบว่าเกินไปจริงๆ เราไม่ได้อิจฉาหรือมโนเอง
นี่ยังไม่นับรวม #คนอวดผัว ที่ทำเอาสาวโสดอิจฉาตาร้อน จะอัพรูปกับแฟนไม่ได้ว่า แต่อย่าถี่ขนาดนี้ได้ไหม พร้อมแคปชั่นที่แบบสะเทือนใจ เช่น “อาหารเช้าบนเตียง สามีทำให้” ณ จุดนี้ถ้าเป็นพิเศษ วันครบรอบ วันเกิด ในชีวิตสามีไม่เคยทำให้เลย อันนี้อนุโลม แต่อัพทุกเช้า-กลางวัน-เย็นขนาดนี้ ทางจิตวิทยาเรียกว่าโรค Narcisisitic หรือโรคหลงตัวเอง ชอบกดให้คนอื่นอยู่ต่ำกว่า และการอัพอะไรพวกนี้ก็เหมือนเป็นการทำให้ตัวเองดูสูงกว่าค่ะ
4. โรคติดเซลฟี่
ไปไหนก็ถ่ายรูปหน้าตัวเองตลอด แถมยังเป็นหน้ามุมเดิมแบบเต็มจอจนมองไม่เห็นฉากหลัง แล้วยังมีหน้ามาเขียนแคปชั่นว่า “ท้องฟ้าสวยมาก” ไหนคะท้องฟ้า “ทะเลสวยมาก” ไหนคะทะเล “มาทานข้าวกับคุณแม่” แล้วไหนคะคุณแม่ หรือไม่ก็ถ่ายหน้าตัวเองทุกเวลาเช้า-กลางวัน-เย็น พร้อมแคปชั่นเป็นคำคมเก๋ๆ งงค่ะ ถ่ายมันเข้าไปเซลฟี่ทีละ 50 รูป เผื่อเบลอเผื่อไม่สวย แต่พอเปิดอัลบั้มรูปขึ้นมามีแต่หน้าตัวเองมุมเดิมเป๊ะทุกรูป อย่างนี้เข้าขึ้นโรค Selfie Addiction และโรคหลงตัวเองนะคะสาวๆ ถ่ายให้มันติดพื้นหลังบ้าง ติดเพื่อนบ้าง ถ่ายอาหารบ้างก็ได้ อย่าถ่ายแต่หน้าตัวเองเลยขอร้อง!
Image source : giphy.com
5. โรคมโน
เป็นอาการอัพสเตตัสว่าตัวเองมีชีวิตดี มีทรัพย์สิน มีคนรัก แต่ความจริงแล้ว ‘ไม่มี’ เช่น วันนี้นั่งกินมาม่าอยู่ที่บ้าน ก็อัพสเตตัสว่ามาทานร้านอาหารหรู หรือถ้าเป็นมากก็ถึงขั้นเข้าไปหารูปใน google มาแปะประกอบสเตตัส หลายคนทำให้เพื่อนเดือดร้อนด้วยการยืมข้าวของแอคเซสซอรี่ของเพื่อน มาประโคมใส่ตนแล้วถ่ายรูปลงโซเชี่ยล อย่างนี้เข้าขั้นเป็นโรคทางจิต เป็นการสร้างโลกมโนของตัวเองขึ้นมาใหม่ในโซเชี่ยล เพราะไม่พอใจในชีวิตของตัวเองค่ะ โรคนี้อาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้นะคะ
Image source : giphy.com
6. โรคเสพติดยอดไลค์
เมื่ออัพรูปหรือสเตตัสเสร็จแต่ละครั้ง คนประเภทนี้จะเฝ้าหน้าจอ รอยอดดูยอดไลค์และคอมเม้นท์แบบไม่วางสายตา เมื่อไม่มีคนมาไลค์หรือคอมเม้นท์ตามเป้าก็จะผิดหวังและไม่พอใจ และเปลี่ยนพฤติกรรมไปอัพสเตตัสแบบเรียกยอดไลค์ เช่น อัพภาพสวยๆ หรือภาพโชว์กึ่งอนาจาร อัพสเตตัสด้วยคำที่หยาบคายรุนแรง หรือพยายามแสดงความคิดเห็นตามกระแส อันนี้แค่สเตจ 1 ค่ะ สเตจ 2 พวกเขาจะเริ่มวางแพลนการอัพ อัพกี่โมงมีคนกดไลค์เยอะ อัพเวลาไหนคนเล่นโซเชี่ยลเยอะ จากนั้นก็รอเสพยอดไลค์บนหน้าจออย่างไม่วางตา ใครมาคอมเม้นท์ก็ตอบกลับแบบชวนคุยทันที และสเตจ 3 คือถ้ายอดไลค์ไม่ถึงเป้าต้องลบทิ้ง จะทนเห็นยอดไลค์น้อยไม่ได้ โอ้ยนี่พื้นที่ส่วนตัวนะคะ ไม่ใช่ขององค์กรที่ต้องคิดคอนเทนส์น่าสนใจ เลือกเวลาอัพ และเช็คยอดไลค์แบบละเอียดขนาดนี้ อย่างนี้ก็เข้าขั้นโรคหลงตัวเองเช่นเดียวกันค่ะ
Image source : giphy.com | giphy.com
7. โรคก็อปปี้คนดัง
ข้อนี้เป็นผลพวงมาจากการเสพโซเชี่ยลคนดังมากเกินไป เห็นเขามีอะไรก็ต้องไปซื้อตามทุกอย่าง อัพสเตตัสตามเพื่อหวังยอดไลค์แบบเขา เห็นเขาไปถ่ายรูปที่ไหนก็ต้องไปด้วย บางคนเป็นหนักถึงขั้นชุดก็ต้องเหมือน แต่งหน้าทำผมต้องเอาเป๊ะ และต้องไปยืนถ่ายรูปมุมเดียวกับคนดังที่ตัวเองติดตามอยู่ โอ้ย แบบนี้แลดูน่ากลัวไหมล่ะคะ การปฏิเสธตัวตนของตัวเอง เพราะไม่ป๊อปเหมือนคนดัง และพยายามที่จะเป็นคนอื่นนี่ก็เข้าขั้นโรคซึมเศร้าประเภทหนึ่งค่ะ
Image source : giphy.com
7 โรคของคนยุคใหม่ที่เกิดจากการติด Social network มากเกินไป เฟียร์ซไม่ได้อยากจะจิกกัดคนป่วยแต่อย่างใด แค่อยากเตือนว่า “อย่าติดมันมากเกินไป” การเสพแต่พองามก็ทำให้เรามีความสุขกับอุปกรณ์เล็กๆในมือได้ แต่ถ้ามากเกินไปไม่ดีแน่ๆค่ะ ใครมีเพื่อน มีลูกมีหลานที่เข้าค่ายเสี่ยงโรคเหล่านี้ ลองชวนเขาไปเที่ยวข้างนอก พยายามชวนเขาคุยเยอะๆ จะได้ไม่ต้องติดมือถือหนักจนต้องปรึกษาจิตแพทย์นะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากเฟียร์ซค่ะ :)