สำหรับใครที่อยากจะรู้ที่มาที่ไปของสกินแคร์หรือเครื่องสำอางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทดลองกับสัตว์ไหม หรือจะเป็นเรื่องส่วนผสมต่างๆว่าธรรมชาติแค่ไหน ออร์แกนิคหรือเปล่า เราสามารถดูได้ที่ตัวแพคเกจเลยค่ะ เพราะว่าจะมีสัญลักษณ์ต่างๆคอยบอก เพราะฉะนั้นจะมีอะไรบ้าง ไปชมกันเลยค่า
1. Cruelty-free/Not tested on animals
(Photo credit: avery)
มาเริ่มกันที่ตัวแรก ก็คือ cruelty-free ไลน์ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเป็นเครื่องสำอางที่ปราศจากการทดลองกับสัตว์ ถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่มาแรงในสาวๆ สายอนุรักษ์มากๆ ถ้าอยากรู้ว่าสินค้าตัวไหนใช่ หรือไม่ใช่ cruelty-free ดูง่ายมากค่ะ ให้หาฉลากรูปกระต่ายที่เขียนว่า ‘Not tested on animal’, ‘cruelty-free’ หรือโลโก้กระต่ายกระโดดก็ใช่นะคะ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Hourglass Cosmetics, IT Cosmetics, Rare Beauty, Cover FX Skin Care, ColourPop Cosmetics
2. USDA's National Organic Program
(Photo credit: ams)
ตัวนี้เป็นตรารับรองจาก U.S. Department of Agriculture สำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐอเมริกา เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ผลิตจากส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิค คือมาจากธรรมชาติและไม่มีการใช้สารเคมีหรือการตัดต่อพันธุกรรมหรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี ในสัดส่วนที่มากกว่า 95% สินค้าที่ขอสัญลักษณ์ USDA organic ได้แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สินค้าที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิค 100% และ สินค้าที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิคไม่น้อยกว่า 95% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิคน้อยกว่า 95% จะไม่สามารถใช้สัญลักษณ์ USDA organic ได้ แต่ถ้ามีส่วนผสมเป็นออร์แกนิคไม่น้อยกว่า 70% จะสามารถระบุบนฉลากว่าใช้ส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิคได้ เช่น “Made with organic ingredients” หรือถ้ามีส่วนผสมเป็นออร์แกนิคน้อยกว่า 70% จะสามารถระบุว่ามีส่วนผสมบางส่วนเป็นออร์แกนิคได้ “Some organic ingredients” นั่นเองค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Badger Company, Giovanni 2chic
3. Vegan Society
(Photo credit: theflamingvegan)
สำหรับเครื่องสำอางที่มีสัญลักษณ์ Vegan นั้นแปลว่าผลิตภัณฑ์ปราศจากส่วนผสมที่ได้มาจากหรือทดสอบกับสัตว์นั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขี้ผึ้งต่างๆ หรือไขมันสัตว์ก็จะไม่มีค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: The Body Shop, Vaia Beauty, Bao Skincare
4. Fairtrade
(Photo credit: oriflame)
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก Fairtrade จะเน้นเรื่องระบบการค้าที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ผู้แปรรูปสินค้า รวมไปถึงผู้ใช้แรงงานในระบบ มีการรักษาราคาตลาด และช่วยเหลือเกษตรกรตามความเหมาะสม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาจะต้องไม่ทำลายธรรมชาติอีกด้วยค่ะ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Neal's Yard Remedies, The Body Shop, i+m
5. Non-Toxic
(Photo credit: iconfinder)
ตัวเครื่องสำอางหรือสกินแคร์ที่เขียนว่า Non-Toxic คือสินค้านั้นๆจะไม่มีส่วนผสมที่เป็นสารพิษ ที่จะสามารถทำให้ผิวระคายเคือง หรืออาจถึงขั้นร้ายแรงได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกายหรือโรคร้ายอย่างมะเร็ง
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: 100% Pure, Neal's Yard Remedies
6. The Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO)
(Photo credit: rspo)
นอกจากเราจะใช้น้ำมันปาล์มในการบริโภคในชีวิตประจำวันแล้วนะคะ น้ำมันปาล์มยังนำไปใช้ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องสำอางด้วยค่ะ หลายคนคงเคยเห็นแคมเปญการรณรงค์ช่วยเหลือลิงอุรังอุตังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ นั่นมีที่มาจากการรุกล้ำพื้นที่ป่าในประเทศอินโดนิเซียที่ขึ้นชื่อว่าปลูกปาล์มมากที่สุด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าเราต้องมีการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน หรือมาตรฐาน The Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อส่งเสริมให้การเติบโตของน้ำมันปาล์มที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และไม่เกิดการตัดไม้ทำลายป่าด้วยค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Weleda, Lush, PHB Ethical Beauty
7. Responsible Forest Management
(Photo credit: forestsolutions)
FSC หรือที่ย่อมาจาก Forest Stewardship Council™ หรือภาษาไทยก็คือ องค์การจัดการด้านป่าไม้ ซึ่งมีการกำหนดนโยบายโดยสมาชิกจากภาคส่วนสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้การจัดการป่าไม้ของโลกเป็นไปอย่างรับผิดชอบนั้นเองค่ะ และด้วยระบบการรับรองที่เข้มงวดจะต้องมีการระบุและตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ได้ จึงจะได้รับมาตรฐาน FSC นั้นเองค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Vapour, Antonym Cosmetics
8. ZeroList™
(Photo credit: panpuri)
ภายใต้มาตรฐาน ZeroList™ ปัญญ์ปุริได้แบนส่วนผสมกว่า 2,300 ชนิดที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ทางปัญญ์ปุริจึงเลือกใช้แค่ส่วนผสมที่ดี มีประสิทธิภาพ และจำเป็นต่อผิวเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรามั่นใจได้เลยค่ะว่าเราได้ของดีที่สุดเท่านั้นค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Panpuri
9. Gluten-free
(Photo credit: avery)
กลูเตน เป็นส่วนประกอบของโปรตีนที่พบในข้าวสาลี และธัญพืชอื่นๆ เช่น ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ สำหรับคนที่แพ้กลูเตน หากเป็นการรับประทาน จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีผลต่อการทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก และ หากเป็นการอาการทางผิวหนัง คือ "มีผื่นแดง" "อาการคัน ระคายเคือง" ถึงแม้ฟังดูแล้วอาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเครื่องสำอาง แต่เครื่องสำอางหลายแบรนด์ใช้ส่วนผสมที่เป็นกลูเตน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม หรือแม้แต่ลิปสติก เพื่อความติดทนนานต่างๆ หากคุณไม่แน่ใจ ว่าใช้เครื่องสำอางชิ้นนั้นๆแล้ว ยังรู้สึกระคายเคืองอยู่ ทางที่ดีที่สุด คือ ตรวจผิวหนัง หรือเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกลูเตน โดยดูที่บรรจุภัณ์ที่ระบุว่า Gluten-free นั้นเองค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Ecco Bella, E.L.F., Lancome, NARS Cosmetics, Nivea, Too Faced Cosmetics
10. Recycle Sign
(Photo credit: recyclenow)
ถ้าใครเห็นสัญลักษณ์ตัวนี้ ลูกศร 3 ตัว วนกันเป็นรูปสามเหลี่ยม นั่นบ่งบอกว่าแพ็คเกจของผลิตภัณฑ์นี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ค่ะ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Aveda, Origins, Lush
11. GREEN DOT
(Photo credit: oxygenetix)
สัญลักษณ์ลูกศรสีเขียวที่เชื่อมต่อกันในวงกลม สัญลักษณ์นี้ถูกใช้ในประเทศในสหภาพยุโรปเพื่อแสดงว่าผู้ผลิตได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลจัดการการกู้คืนและรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีการกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์อย่างถูกวิธีค่ะ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: The Ordinary, Yves Rocher
12.Made Safe®
(Photo credit: seekpng)
Made Safe® เป็นตราประทับปลอดสารพิษของอเมริกา ตัวผลิตภัณฑ์จะได้รับการกลั่นกรองอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยปราศจากสารเคมีรุนแรงหรือสารปนเปื้อน หากคุณพบเครื่องสำอางที่มีฉลากอยู่แสดงว่าปลอดภัยที่จะใช้โดยไม่ต้องกังวล
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Annmarie Skin Care, MamaEarth, True Botanicals
13. Cosmebio
(Photo credit: mentalfloss)
เป็นเครื่องยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบจากธรรมชาติอย่างน้อย 95% และปราศจากน้ำหอม สี สารกันบูด โดยได้รับการรับรองจากองค์กรฝรั่งเศส COSMEBIO สัญลักษณ์ BIO ย่อมาจาก biologique ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศสหมายความว่าเป็นออร์แกนิคและยืนยันว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมจากธรรมชาติอย่างน้อย 95% และส่วนผสมที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์มีสัดส่วนอย่างน้อย 10%
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Boho Green Make-up, Sweet and Safe, Charlotte Make Up
14. COSMOS STANDARD
(Photo credit: cosmos)
COSMOS (COSMOS STANDARD) คือมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวออร์แกนิคทุกชนิดในโลก โดยกำหนดขึ้นจากสถาบันไม่แสวงหาผลกำไรที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างสมาคมระดับนานาชาติในยุโรป 5 สมาคม ได้แก่ BDIH จากเยอรมนี COSMEBIO & ECOCERRT จากฝรั่งเศส ICEA จากอิตาลี และ SOIL ASSOCIATION จากสหราชอาณาจักร ซึ่งมาตรฐานนี้มีขึ้นเพื่อเน้นเรื่องความรับผิดชอบของผู้ผลิตเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิค โดยจะมีการดูแลและควบคุมตั้งแต่กระบวนการผลิตและการบริโภคนั้นเองค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Antonym, Kora, Neal's Yard Remedies
15. Soil Association Organic Standard
(Photo credit: amritawholesale)
Soil Association เป็นองค์กรรับรองมาตรฐานการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในสหราชอาณาจักร ออกฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างน้อย 70% ส่วนผสมที่เหลือต้องปลอดสารพิษและปลอด GMO
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Apotheca, Botanicals, EcoDrop
16. NATRUE
(Photo credit: natrue)
สมาคมการรับรองของยุโรปที่ออกฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่มีน้ำหอมและสีสังเคราะห์ ไม่มีผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ไม่มีน้ำมัน ซิลิโคนและไม่มีการทดสอบในสัตว์ ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเท่านั้น
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Dr. Hauschka, Lavera, Weleda
17. No Silicone
(Photo credit: naturalisbetter)
ซิลิโคนเป็นส่วนผสมหนึ่งที่นิยมใช้ในวงการเครื่องสำอางเพราะมีคุณสมบัติหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้เนื้อผลิตภัณฑ์มีความ นุ่ม ลื่น เกลี่ยง่าย หรือช่วยทำละลายสีในผลิตภัณฑ์กลุ่มเมคอัพทั้งหลาย รองพื้น คอนซีลเลอร์ ให้กระจายตัวสม่ำเสมอ ทาแล้วไม่เป็นคราบและติดทน ถ้ามีเขียนว่า No Silicone ก็จะแปลว่าไม่มีส่วนผสมของ Silicone นั้นเองค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Ren, Milk Makeup, Drunk Elephant, The Ordinary
18. Paraben Free
(Photo credit: naturalisbetter)
Paraben คือสารกันเสียชนิดหนึ่ง ที่มีราคาไม่แพงและมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นเลยมีการใช้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย แต่มีรายงานผลการศึกษาจาก กลุ่มศึกษาอาการผื่น มีการค้นพบที่พบว่า พาราเบนคือหนึ่งในสารกันเสีย ที่พบการแพ้ได้บ่อย เป็นอันดับที่สองรองจากน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่นหอม เพราะฉะนั้นหากใครที่แพ้ ลองมองหาสัญลักษณ์ที่เป็น Paraben Free กันได้เลยค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Clinique, Burt's Bees, WELEDA
19. SLS Free
(Photo credit: naturalisbetter)
สาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate, Sodium Laurate Sulfate) และ SLES (Sodium Lauryl Ether Sulfate) เป็นสารเคมีประเภทซักล้างและลดแรงตึงผิว มีคุณสมบัติในการทำความสะอาด ด้วยคุณสมบัติในการชำระล้าง SLS จะไปช่วยจับน้ำมันและสิ่งสกปรกออกจากเส้นผมและผิวได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการชะล้างที่รุนแรง จึงอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนัง ศีรษะ และดวงตาได้ค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากเลี่ยงก็ลองหาฉลากที่เป็น SLS Free ดูค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: NYX Cosmetics, Ecco Bella, Bella Mari
20. Carbon Neutral
(Photo credit: carbonneutral)
สัญลักษณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการด้านสภาพอากาศของบริษัทที่ได้ทำการตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเราอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของพนักงานของเราทั้งในและนอกประเทศ ขยะจากร้านค้า โรงงานและการจัดจำหน่าย การจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการใช้พลังงานต่างๆ ของร้านค้า โรงงาน สำนักงาน
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Neal’s Yard Remedies
21. National Eczema Association (NEA) Seal Acceptance
(Photo credit: nationaleczema)
เครื่องหมายนี้เป็นการรับรองผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบความปลอดภัยของส่วนผสม โดยสมาคมโรคผิวหนังอักเสบพบว่าเหมาะสำหรับผิวบอบบางแพ้ง่ายและไม่ทำให้ผิวระคายเคือง และเหมาะสำหรับดูแลผิวที่บอบบาง แพ้ง่าย ไม่มีการระคายเคืองต่อผิวหนัง
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: CeraVe, Burt's Bees
22. Dermatologically Tested
(Photo credit: freepik)
DERMATOLOGICALLY TESTED คือสัญลักษณ์ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการทดสอบความ ปลอดภัยต่อผิวนั้นเองค่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Glo Skin Beauty, VMV Hypoallergenics, Eucerin
23. Clinically Tested
(Photo credit: provenance)
เครื่องสำอางหรือสกินแคร์ที่ผ่านการทดสอบจากคลินิกของเครื่องสำอางยี่ห้อนั้นๆ มีโอกาสเกิดการแพ้น้อยกว่าปกติ ดังนั้นเครื่องสำอางที่มีคำนี้ติดบนผลิตภัณฑ์ คือเครื่องสำอางที่ทางผู้ผลิตได้หลีกเลี่ยงการใช้ส่วนประกอบที่เสี่ยงต่อการเกิดการแพ้ระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ น้ำหอม สารกันเสีย เป็นต้น หรือใส่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปกติ ทำให้คนที่มีผิวแพ้ง่ายใช้เครื่องสำอางเหล่านี้ได้ เพราะโอกาสที่จะเกิดการแพ้ระคายเคืองจะน้อยกว่าการใช้เครื่องสำอางทั่วไป
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์นี้: Physicians Formula, Clinique, Neutrogena
ก็จบกันไปแล้วนะคะ กับ 23 สัญลักษณ์ในเครื่องสำอางและสกินแคร์น่ารู้ ทำให้เวลาสาวๆเลือกซื้อของ ซื้อกันได้ง่ายขึ้น และมั่นใจขึ้นนั้นเองค่า