งาน ‘เดือนลับฟ้า สู่สรวง พิธีส่งสการตานคาบ’ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เป็นงานบำเพ็ญกุศลตามธรรมเนียมล้านนาโบราณของเจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากมาก หรือเราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นกันอีกแล้ว พิธีในช่วงเช้าจัดที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และตอนบ่ายได้เคลื่อนขบวนแห่ปราสาทสรีระแบบล้านนา ไปยังวัดสวนดอก พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประกอบพิธีส่งสการตานคาบ โดยได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัด บรรยากาศเต็มไปด้วยความอาลัยรักจากญาติมิตร และประชาชนที่มาแสดงความเสียใจจากทั่วทุกสารทิศ
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
บรรยากาศริ้วขบวนแห่ปราสาทสรีระ ส่งสการตานคาบ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
Image source : www.facebook.com/เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
Image source : www.facebook.com/เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
Image source : www.facebook.com/เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
Image source : www.facebook.com/เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
ขบวนแห่ปราสาทสรีระเริ่มเคลื่อนเมื่อเวลา 14.00 น. จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ภายในริ้วขบวนจัดแบบล้านนายาวกว่ากิโลเมตร ไปยังเมรุชั่วคราว ณ วัดสวนดอก มีผู้มาร่วมไว้อาลัย ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ หรือ ‘เจ้ายาย’ ของทุกคนมากมาย เมื่อขบวนมาถึง ณ วัดสวนดอก ก็มีการทอดผ้าบังสุกุลและผ้าไตรบังสุกุล จากนั้นจึงประกอบพิธีส่งสการตานคาบ อันเป็นพิธีปลงศพของเจ้านายฝ่ายเหนือ ตามแบบล้านนาโบราณ
บรรยากาศงานพิธีส่งสการตานคาบ
บรรยากาศงานพิธีสวดอภิธรรม
นิทรรศการเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ในพิธีสวดอภิธรรม
Image source : chaoduangduen.com
‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ หรือ ‘เจ้ายาย’ เป็นที่รักของทุกคน เจ้ายายได้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ทั้งทางด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ และด้านศิลปะวัฒนธรรม รวมทั้งมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาของสตรีภาคเหนือให้มีความรู้ทัดเทียม และมีความสามารถรอบด้าน รณรงค์ให้ผู้หญิงสร้างกลุ่มและพัฒนาตนเอง จนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ พร้อมทั้งเน้นในเรื่องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีตามแบบฉบับหญิงสาวล้านนา ที่มีความเป็นกุลสตรี นอบน้อม และอ่อนโยนค่ะ
ด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เจ้ายายได้อนุรักษ์และส่งเสริมให้สตรีแต่งกายด้วยผ้าไทยพื้นเมือง รวมทั้งเป็นผู้เผยแพร่การเลี้ยงขันโตกแบบล้านนาไทย ทำให้ขันโตกยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน และยังส่งเสริมการจัดงานประเพณีต่างๆ เพื่ออนุรักษณ์ความดีงามของพื้นถิ่นให้คงอยู่ นอกจากนี้ยังเผยแพร่ประเพณีของภาคเหนือให้ชาวโลกได้รับรู้อีกด้วย
Image source : chaoduangduen.com
Image source : chaoduangduen.com
เมื่อเจ้ายายได้เข้ามาทำงานด้านสังคมก็เห็นถึงปัญหาของเด็กและสตรีที่ซุกซ่อนอยู่ จึงเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจร่วมแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาสตรีถูกตกเขียว และยังเข้าไปพูดคุยให้ความรู้กับชาวบ้าน ให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเองและครอบครัว ตลอดจนแนะนำวิธีหาเลี้ยงชีพ เพื่อไม่ให้ครอบครัวขายลูกสาว รวมทั้งช่วยรณรงค์การวางแผนครอบครัวจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานเขต สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยภาคเหนือค่ะ
สิ่งที่ทำให้เราประทับใจจนน้ำตาซึมก็คือ มีคนมาร่วมไว้อาลัยและส่งเจ้ายายในพิธีส่งสการตานคาบมากมาย หนึ่งในนั้นกล่าวว่า ‘มาไกลแค่ไหนก็ต้องมาร่วมส่งเจ้ายาย เพราะเจ้ายายสอนให้ผมไม่ขายลูกกิน’
Image source : chaoduangduen.com
Image source : chaoduangduen.com
แม้ว่าเจ้ายายจะจากพวกเราไปแล้ว แต่คุณงามความดีของ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ จะยังคงส่องสว่างอยู่บนท้องฟ้า ตราตรึงอยู่ในใจลูกหลานและประชาชนภาคเหนือไม่เสื่อมคลาย สิ่งที่เจ้ายายได้ทำเพื่อสังคม ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตนเอง และรักษาประเพณีที่ดีงามของล้านนาให้คงอยู่ เวลาที่เราไปเที่ยวทางภาคเหนือก็ยังคงเห็นศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิม ทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีมนต์เสน่ห์ค่ะ
หากสนใจงานพิธีส่งสการตานคาบ หรืออยากศึกษาอัตชีวประวัติของ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ก็เข้าไปดูรายละเอียดและรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่ www.chaoduangduen.com และ Facebook: www.facebook.com/เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ค่ะ